นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต
อีกครั้ง.. “ตรุษจีนย้อนอดีตเมืองภูเก็ต”
กว่า 700 ปี ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเหยียบย่างเข้ามาสู่จังหวัดภูเก็ต และมีโอกาสประกอบอาชีพ สร้างสรรค์สังคมส่วนรวมให้เจริญเติบโตขึ้นด้วยความอุตสาหะ วิริยะ เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน และเป็นมรดกแก่บุตรหลานชาวฮกเกี้ยนตลอดมา ไม่ว่าเป็นตึกบ้านเรือน อาหาร ประเพณี ล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยนผสมผสานอยู่มาก ส่วนบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยจะก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีน มีลักษณะเป็นห้องแถวแคบยาว ชั้นล่งใช้ทำการค้า ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย วัสดุที่ใช้และตกแต่งแบบจีน ทั้งกระเบื้องพื้น ประตู หน้าต่างและหลังคาที่เว้นช่องเปิดช่องแสงในอาคารตึก
(ที่มา :: http://www.siamsouth.com / smf / index.php?topic=24271.0;wap2)
อีกหนึ่งประเพณีที่สืบทอดและถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดอีกหนึ่งประเพณี ก็คือ “ประเพณีวันตรุษจีน” เป็นวันหยุดตามประเพณีของคนจีนที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน และวันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ คืนก่อนตรุษจีนจะเป็นวันที่ครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ หรือ “การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน” เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ”
ในวันตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือ “วันจ่าย” คือวันก่อนวันสิ้นปี ซึ่งเป็นวันที่จะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ “วันไหว้” เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ ไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว รวมถึงไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และไม่ลืมที่จะจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล ปิดท้ายที่ “วันเที่ยว” คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี ในวันนี้..ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ และในวันนี้เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น
จังหวัดภูเก็ต..เมืองที่เต็มไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีน ในช่วงเวลาของเทศกาลตรุษจีน หลังจากเสร็จสิ้นธรรมเนียมปฏิบัติในวันสำคัญต่างๆ แล้ว ก็ได้จัดกิจกรรมรื่นเริงสำหรับ “วันเที่ยว” โดยจัดต่อเนื่องมาอย่างยาวนานถึง 18 ปีแล้ว ซึ่งงานเที่ยวที่ว่านี้คือ งานตรุษจีน – ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรี นครภูเก็ต ได้ให้เกียรติมาบอกเล่าเรื่องราวดีๆ กับประเพณีที่สวยงามและทรงคุณค่าให้กับทีมงาน OPM.ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า งานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต เป็นงานวัฒนธรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต จัดโดยเทศบาลนครภูเก็ต ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ในปีนี้..เป็นปีที่ 19 โดยมีความตั้งใจและวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อ กระตุ้นจิตสำนึกของประชาชน เยาวชน ให้รู้จักรักและหวงแหนวัฒนธรรรมที่ดีงามของภูเก็ต ทั้งยังหวังให้ร่วมกันสืบสานให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์อาคารเก่า สถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่งดงามและทรงคุณค่ามากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในการเล่าขานและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมไปถึงในงานนี้ยังจะเป็นการเผยแพร่ วัฒนธรรมท้องถิ่น ในเรื่องของเครื่องแต่งกาย เรื่องอาหารพื้นเมือง เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมดั้งเดิมและเรียนรู้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย
นางสาวสมใจ กล่าวต่อไปอีกว่า ภายในงานตรุษจีนย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ประจำปี 2561 นี้ นอกจากจะได้ชมขบวนแห่ทางวัฒนธรรมในวันพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่ตระการตา พิธีอัญเชิญและสักการะองค์เจ้าแม่กวนอิมแล้ว ก็ยังจะได้สัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนภูเก็ต ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการแสดงพื้นบ้าน ล่องเรือกอจ๊าน การออกร้านจำหน่ายขนมพื้นเมืองและขนมโบราณ นิทรรศการท้องถิ่น และการเดินชมสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีสแล้ว ก็ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ ไทย-จีน รำวงย้อนยุค รวมถึงการแสดงดนตรีเยาวชนอีกมากมาย
“ไฮไลท์สำคัญอีกหนึ่งไฮไลท์ที่มีในงานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ก็คือ พิธีไหว้เทวดา จัดขึ้นบริเวณด้านหน้ารูปปั้นพญามังกร สวน 72 พรรษา มหาราชินี โดยเลือกของมงคลต่างๆ ทั้งขนม อาหารคาว-หวาน ผลไม้ และผักแห้ง ต่างๆ โดยขนม ที่ใช้ในวันไหว้เทวดา ได้แก่ อ่างกู้ อ่างอี๋ อ่างข้าน ตี่โก้ย ฮวดโก้ย บี้โก้ และเต่เหลี่ยว ส่วนของแห้ง ก็เหมือนปกติ แต่ที่นิยมใช้กัน ก็ได้แก่ ตังฮุ้น กิมเจี้ยม บกหนี้ เหี่ยวก้อ เต็กก่ากี้ และ หมี่สั่ว รวมไปถึงผลไม้ หลักๆ ก็จะใช้ก้ามเจี่ย อ่องหลาย บี้เจ่ว ก้าม หรือผลไม้ตามฤดูกาล เช่น เป่งโก้ ผู่โถ อิ่วก้าม ส่วยอะ ซีกั้ว บาซี่กู้ เสี่ยหลิว หรือเหล่งเหง เป็นต้น โดยที่ปลายก้ามเจี่ยนั้น จะผูกไว้ด้วย โกจี๋ ของคาว ประกอบด้วย เก้ ตู หู หยี่หู แห จิ๋ม หมี่ และ อั่งจิ้ว นอกจากนี้ยังมีการนำไข่ต้มมาย้อมสีแดง เรียกว่าอ่างต้าน อีกด้วย นอกจากนี้ อาจยังมีการทำบิดเจี่ยน และน้ำตาลเทวดา หง้อสิ่ว มาเป็นของไหว้ได้อีกด้วย ซึ่งของไหว้เหล่านี้ บางอย่างจะจัดทำขึ้นเฉพาะไหว้เทวดาเท่านั้น”
สำหรับงานตรุษจีน ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต ครั้งที่ 19 ประจำปี 2561 นั้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ พื้นที่การจัดงานครอบคลุมย่านเมืองเก่าภูเก็ต ตั้งแต่ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี ในจุดนี้จะเป็นที่ตั้งของเวทีหลักที่เน้นการแสดงทางวัฒนธรรม มีการอัญเชิญรูปปั้นองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมมาประดิษฐานให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะ จุดต่อมาคือถนนถลาง ซอยรมณีย์ ซึ่งจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้า ร้านรวงบ้านเรือนบางหลังจะเปิดให้เข้าชม มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดเส้นทาง ถนนกระบี่ ต่อเนื่องจากถนนถลาง มีไฮไลท์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ตลอดเส้นทางถนนพังงามีการจัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ
นับเป็นอีกหนึ่งความสวยงามและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ที่จัดขึ้นให้ชาวโลกได้ประจักษ์และปักหมุดไว้เป็นอีกหนึ่ง Destination ที่ไม่ควรพลาดในทุกๆ ปี… อีกหนึ่งการท่องเที่ยววิถีไทย..เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน..
ข้อมูล / ภาพ จาก FB : ตรุษจีนย้อนอดีตเมืองภูเก็ต
ขอขอบคุณ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลนครภูเก็ต